เมนู

8. อังคิกสูตร


ว่าด้วยการเจริญสัมมาสมาธิมีองค์ 5


[28] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการเจริญสัมมาสมาธิที่
ประกอบด้วยองค์ 5 อันประเสริฐ เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ก็การเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันประเสริฐเป็นไฉน ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น
เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่ง
กายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือน
พนักงานสรงสนานหรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณสีตัวลง
ในภาชนะสำริดแล้วพรมด้วยน้ำหมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุรณสีตัวซึ่งซึมไปจับ
ติดทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออกฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละ
ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกไม่มีเอกเทศไหนๆ
แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันประเสริฐ
ข้อที่ 1
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความ
ผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะ
วิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขที่เกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น
เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่ง
กายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือน
ห้วงน้ำลึกที่มีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก ด้านใต้

ด้านตะวันตก ด้านเหนือ และฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้น
จากห้วงน้ำนั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึม
ด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่พึง
ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม
ซาบซ่าน ด้วยปีติ และสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกาย
ของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูก่อนภิกษุ-
ทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันประเสริฐ ข้อที่ 2
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มี
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระ-
อริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศ
ไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขอันปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนในกออุบล กอบัวหลวง หรือกอบัวขาว ดอกอุบล
ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่
ในน้ำ อันน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็น
ตลอดยอด ตลอดเหง้า ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งดอกอุบล ดอกบัวหลวง
หรือดอกบัวขาว ทั่วทุกส่วนที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล
ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยสุขอันปราศจากปีติ
ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง
นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันประเสริฐ ข้อที่ 3
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอันไม่มี
สุขไม่มีทุกข์ เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้มี
อุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอัน

บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอัน
บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว จะไม่ถูกต้อง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ
จะพึงนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายทุก ๆ
ส่วนของเขา ที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไป
ทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกาย
ของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว จะไม่ถูกต้อง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันประเสริฐ ข้อที่ 4
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมถือด้วยดี ทำไว้ใน
ใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา
เปรียบเหมือนคนอื่นพึงเห็นคนอื่น คนยืนพึงเห็นคนนั่ง หรือคนนั่งพึงเห็น
คนนอน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี
ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันประเสริฐ
ข้อที่ 5
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อัน
ประเสริฐ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุจะโน้มน้อมจิต
ไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
ใด ๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่
โดยแน่นอน เปรียบเหมือนหม้อน้ำตั้งอยู่บนที่รอง เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปาก
พอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้มีกำลัง พึงเอียงหม้อน้ำนั้นไปรอบ ๆ น้ำก็พึงกระฉอก
ออกมาได้หรือ.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิ
อันประกอบด้วยองค์ 5 อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว
อย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึง
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรม
นั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เปรียบเหมือนสระน้ำที่ภูมิภาคอันราบเรียบ กว้าง
สี่เหลี่ยม กั้นด้วยทำนบ เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปากพอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้มี
กำลังพึงเปิดทำนบสระนั้นทุก ๆ ด้าน น้ำก็พึงไหลออกมาได้หรือ. ้
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิ
อันประกอบด้วยองค์ 5 อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว
อย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไป เพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึง
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรม
นั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เปรียบเหมือนรถม้าที่เทียมแล้วจอดอยู่ทางใหญ่ 4
แยก มีพื้นราบเรียบ มีประตกวางไว้ข้างบน คนฝึกม้าผู้ขยันชำนาญในการฝึก
ขึ้นขี่รถนั้นแล้ว ถือเชือกด้วยมือซ้าย ถือประตักด้วยมือขวา พึงขับรถให้
เดินหน้าบ้าง ให้ถอยหลังบ้าง ได้ตามต้องการ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิอันประกอบด้วยองค์ 5 อันประเสริฐ
ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้
แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เธอ
ย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวัง
อยู่ว่า เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ
พึงใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็น
พยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงได้ยินเสียง 2

ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอัน
บริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ
ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคล
อื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็พึง
รู้ว่าจิตปราศจากราคะ ฯลฯ หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็พึงรู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น เธอ
ย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวัง
ว่า เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สอง-
ชาติบ้าง ฯลฯ เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อม
ทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ
ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุปบัติ
เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ
อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อ
เหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อัน
หาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน
เข้าถึงอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรม ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่.
จบอังคิกสูตรที่ 8

อรรถกถาอังคิกสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในอังคิกสูตรที่ 8 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อริยสฺส ได้แก่ อยู่ไกลจากกิเลสที่ละได้แล้วด้วยวิกขัมภน-
ปหาน (การข่มไว้). บทว่า ภาวนํ เทเสสฺสามิ ความว่า เราจักประกาศความ
เพิ่มพูนการพัฒนา. บทว่า อิมเมว กายํ ได้แก่ กรชกายนี้. บทว่า อภิสนฺเทติ
ได้แก่ ชุ่ม คือ ซึมซาบ คือ ทำปีติและสุขให้เป็นไปทั่วกรชกาย. บทว่า
ปริสนฺเทติ ได้แก่ ไหลไปโดยรอบ. บทว่า ปริปูเรติ ได้แก่ เต็มดุจ
ถุงหนังเต็มด้วยลม. บทว่า ปริปฺผรติ ได้แก่ ซ่านไปโดยรอบ. บทว่า
สพฺพาวโต กายสฺส ได้แก่ ร่างกายทุกส่วนของภิกษุนั้น. ที่ไร ๆ แม้แต่ ่
น้อยแล่นไปตามผิวเนื้อและเลือด ในที่เป็นไปแห่งสันตติของอุปปาทินนกะ
(สิ่งมีใจครอง) ชื่อว่า สุขอันเกิดแต่ปฐมฌาน ไม่สัมผัสไม่มี. บทว่า ทกฺโข
ได้แก่ ฉลาด คือ มีความสามารถทำประกอบและปรุงผงสำหรับอาบน้ำ. บทว่า
กํสถาเล ได้แก่ ภาชนะที่ทำด้วยโลหะอย่างใดอย่างหนึ่ง. แต่ภาชนะทำด้วย
ดินไม่ถาวร เมื่อใส่ผงอาบน้ำย่อมแตกได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงไม่ทรงแสดงภาชนะดินนั้น. บทว่า ปริปฺโผสกํ ปริปฺโผสกํ ได้แก่
รดแล้วรดเล่า. บทว่า สนฺเนยฺย ได้แก่ ถือถาดสำริดด้วยมือซ้ายรดราด
น้ำพอประมาณด้วยมือขวา แล้วขยำผงทำให้เป็นก้อน. บทว่า สิเนหานุคตา
ได้แก่ ถูกยางน้ำซึมซาบ. บทว่า สิเนหปเรตา ได้แก่ ถูกยางน้ำซึมไปรอบๆ.
บทว่า สนฺตรพาหิรา ความว่า ถูกยางน้ำซึมซาบไปทั่งสรรพางค์กายทั้งที่
ภายในและที่ภายนอก. บทว่า น จ ปคฺฆรติ ความว่า หยาดน้ำแต่ละหยาด
จะไม่ไหลออก อาจจะจับทั้งมือก็ได้ 2 นิ้วก็ได้ ทำให้เป็นเกลียวก็ได้.